เมนู

ยาสมุนไพร

สมุนไพร ไก่ชน

ยาถ่ายโบราณคนนิยมใช้กันมากมีส่วนผสมดังนี้

  1. เกลือประมาณ 1 ช้อนคาว
  2. มะขามเปียก 1 หยิบมือ
  3. ไพลประมาณ 5 แว่น
  4. บอระเพ็ดยาวประมาณ 2 นิ้ว หั่นเป็นแว่นบาง ๆ
  5. น้ำตาลปีบประมาณ 1 ช้อนคาว
  6. ใบจากเผาไฟเอาถ่าน (ใช้ใบจากประมาณ 1 กำวงแหวน)

ใช้ครกตำให้ละเอียดเข้า ด้วยกัน เวลาใช้ยาควรให้ไก่กินเวลาเช้าท้องว่าง ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดหัวแม่มือ 2 เม็ด ให้น้ำกินมาก ๆ หน่อย แล้วครอบผึ่งแดดไว้รอจนกว่ายาจะออกฤทธิ์ ถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้ง ก็พอแล้วเอาข้าวให้กินเพื่อให้ยาหยุดเดิน

น้ำสำหรับอาบไก่

ปกติไก่เลี้ยงจะต้องอาบน้ำยาจนกว่าไก่จะชน เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มมีดังนี้

  1. ไพลประมาณ 5 แว่น
  2. ใบส้มป่อยประมาณ 1 กำมือ
  3. ใบตะไคร้ ต้นตะไคร้ 3 ต้น
  4. ใบมะกรูด 5 ใบ
  5. ใบมะนาว 5 ใบ

เอา 5 อย่างมารวมกันใส่หม้อต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้อุ่น พออุ่น ๆ แล้วค่อยอาบน้ำไก่ แล้ว นำไปผึ่งแดดให้ขนแห้ง

สมุนไพรเกี่ยวกับโรคผิวหนัง บาดแผล เห็บหมัด ไรไก่

สมุนไพรเดี่ยว
  1. รากหนอนตายอยาก แผลติดเชื้อ มีหนอง มีหนอน ตำให้แหลก พอก หรือคั้นน้ำ ทาแผล
  2. ตะเคียน ต้มเคี่ยวใช้ทาแผล หรือตำให้แหลกแช่น้ำ ใช้แช่เท้าเปื่อย
  3. ประดู่ ต้มเคี่ยวใช้ทาแผล
  4. หนามคนทา ใช้ฝนทาแผล หนอง
  5. ลูกหนามแท่ง ต้มใช้น้ำชะล้างแผล หรือชำระล้าง
  6. ลูกมะคำดีควาย ต้ม ใช้น้ำชำระล้าง
  7. กำมะถันแดง โรยบนเตาไฟใช้รมบาดแผล
  8. หนามกำจาย ฝนทาแผล ติดเชื้อ
  9. เปลือกสีเสียด ต้มเคี่ยว ใช้ล้างแผล แช่เท้าเปื่อย
  10. ว่านมหากาฬ ตำพอกแผล
  11. ฟ้าทะลายโจร ต้มเคี่ยวใช้ชะล้าง
  12. ยาฉุน แช่น้ำ ไล่เห็บ เหา หมัด ไรไก่
  13. แมงลักคา ขยี้สดๆวางไว้ในเล้าไก่ไล่ไรไก่

น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง

น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง

  1. ไม้กระดูกไก่ทั้ง ๒
  2. เปลือกสมอทะเล
  3. ยอดส้มป่อย
  4. ขมิ้น
  5. ใบหนาด

ต้มรวมทั้งหมดเอาน้ำใช้อาบ

น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง

  1. ไพล
  2. ขมิ้น ( ขมิ้นอ้อย หรือขมิ้นก็ได้ )

ตำใช้ประคบ

พืชสมุนไพรป้องกันหวัดไก่

พืชสมุนไพรป้องกันหวัดไก่ ภูมิปัญญาไทยแท้แต่โบราณ จาก สถานะการณ์ ไข้หว้กนกที่ผ่านมา ในขณะที่ฟาร์มไก่เป็นโรค ระบาดตายหมดเล้า แต่เรากลับพบว่า "ฟาร์มไพบูลย์" ตั้งอยู่เลขที่ 23 หมู่ 3 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ประมาณ 20,000 ตัว ในพื้นที่ 5 ไร่ กลับไม่ เป็นอะไรเลย ยังมีอาการปกติดีทุกอย่างไพบูลย์ รักษาพงษ์พานิชย์ อายุ 55 ปีเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ เล่าว่า เขามีเทคนิคในการเลี้ยงไก่ ที่ไม่เหมือนกับฟาร์มอื่นๆ กล่าวคือเขาได้ใช้สมุนไพรไทย เข้ามาช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับไก่ไข่ภายในเล้า โดยเคล็ดลับ ในการเลี้ยง และดูแลรักษาไก่ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคระบาด โดยเฉพาะโรคไข้หวัด และโรคอหิวาต์นั้น ใช้ ฟ้าทะลายโจรผง และบอระเพ็ดผสมให้ไก่กิน ซึ่งฟ้าทะลายโจรนี้ใช้ได้ทั้งก้าน และใบนำมาบดผสมเข้ากับบอระเพ็ด อัตราส่วนโดยประมาณ ฟ้าทะลายโจร 1 ตัน ผสมบอระเพ็ด 2 กิโลกรัม แล้วนำสมุนไพรที่ว่านี้ผสมลงในอาหารอีกครั้ง อัตราส่วนสมุนไพร 15 กิโลกรัมต่ออาหารไก่ 1,000 กิโลกรัม คลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน ก่อนนำเอาไปให้ไก่กินทุกวันฟ้าทะลายโจรจะช่วยในเรื่องของการป้องกันในเรื่องของหวัดไก่และคุมเรื่องโรคอหิวาต์ หรือโรคท้องร่วงที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าหนาว เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับไก่ ทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคหรือติดโรค ง่ายเวลาที่มีการระบาด เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานาน และค่อนข้างใช้ได้ผล ซึ่งนอกจากสมุนไพรแล้ว เรื่องของ "น้ำ" ก็สำคัญ เพราะเชื้อมักมากับน้ำ ฉะนั้นการใช้น้ำคลองหรือน้ำบาดาลให้ไก่กิน ควรใส่ยาฆ่าเชื้อพวกคลอรีนหรือเพนนิซิลลินเสียก่อนอีกวิธีที่ใช้กันมานาน ก็คือ การใช้ตะไคร้ วิธีการก็คือนำตะไคร้ทั้งกอมาต้มให้ไก่กินแทนน้ำ (การต้มน้ำก็เป็นการฆ่าเชื้อโรคได้ทางหนึ่ง)

ส่วนไอน้ำตะไคร้ที่ต้มก็ให้ใช้วิธีต่อท่อพ่นเข้าไปในเล้าไก่ แต่ทั้งนี้ต้องทำความสะอาดเล้าไก่ให้ดีเสียก่อน เชื่อว่าเป็นการไล่หวัดไก่ได้ วิธีการนี้เคยใช้เมื่อครั้งเกิดโรคระบาดไก่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม แม้เกษตรกรบางรายอาจจะมองว่าเป็นการไปเพิ่มต้นทุน แต่ถ้าสามารถป้องกันโรค และไม่เกิดความเสียหายจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นก็ถือว่าคุ้มที่จะลงทุน ตามสำนวนไทยที่ว่า ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน แนะใช้ "สมุนไพร" แทนยาปฏิชีวนะ เสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรคระบาดในไก่

วิจัยพบสมุนไพรหลายชนิด เช่น ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน พริก ฝรั่ง มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อในไก่ สามารถใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะที่กำลังเป็นปัญหาในการส่งออกได้ สกว. หนุนวิจัยเชิงลึก ทั้งสร้างมาตรฐานการใช้สมุนไพร การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงวิธีการปลูก ที่นอกจากจะช่วยรักษาตลาดส่งออกไก่เนื้อ มูลค่าสี่หมื่นล้านบาทต่อปี และเปิดตลาดอาหารสุขภาพแล้ว ยังเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรไทยที่จะหันมายึดอาชีพปลูกสมุนไพรอีกด้วย

หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ก็คือ "โรคระบาด" เพราะทุกครั้งที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นจะสร้างความสูญเสียกับผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก และเป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปยังไก่ที่เหลือในเล้าและฟาร์มใกล้เคียง ดังที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่หลายจังหวัดในขณะนี้

สาเหตุสำคัญของการระบาดก็คือ สภาพของการเลี้ยงไก่จำนวนมากในพื้นที่น้อย ๆ ซึ่งนอกจากสร้างความเครียดให้กับไก่แล้ว ยังทำให้ไก่กินอาหารน้อยลงและมีภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง จนเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย ซึ่งแนวทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพไก่ก็คือ การใช้ยาหรือสารปฏิชีวนะผสมในน้ำหรืออาหารที่ไก่กิน เพื่อช่วยลดความเครียดและกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น

น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในการประชุมวิชาการ "สมุนไพรไทย : โอกาสและทางเลือกใหม่ ของอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ ครั้งที่ 2 " ว่าขณะนี้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ คือ การสร้างความปลอดภัยด้านอาหารเพื่อผู้บริโภคในประเทศและการส่งออก แต่ปัจจุบันยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหาร เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไก่อยู่ค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกันมีการศึกษาวิจัยในด้านการใช้สมุนไพรอย่างจริงจังในหลายหน่วยงาน ซึ่งหากพบว่าสามารถใช้ทดแทนได้จริง ทางกระทรวงโดยกรมปศุสัตว์ก็พร้อมให้การสนับสนุน

"สมุนไพร" เป็นทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ ในการแก้ปัญหาการตกค้างของสารต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีงานวิจัยอยู่มากพอสมควร และเราได้กำหนดมาตรการการเลี้ยงสัตว์ในบ้านเราให้ยาปฏิชีวนะน้อยที่สุด หากใช้ ต้องใช้เพื่อการรักษาเท่านั้น และหากจะใช้ต้องมีระยะหยดยาด้วย ซึ่งทำให้สมุนไพรอาจเป็นคำตอบของเรื่องนี้ก็ได้ และหากมีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าใช้สมุนไพรแทนได้จริงทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มค่า เราก็พร้อมสนับสนุน เพราะจะมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะตลาดสินค้าอินทรีย์ที่ยุโรป ซึ่งเขาต้องการสินค้าพวกนี้ โดยไม่เกี่ยงเรื่องราคา

รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. กล่าวเสริมว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ไม่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเกรงผลตกค้างที่อาจทำให้เกิดการดื้อยาในผู้บริโภค โดยหลังปี 2006 สหภาพยุโรปจะห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ทุกชนิด รวมถึงไก่เนื้อส่งออกของไทย ที่ขณะนี้ส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก มีมูลค่าส่งออกทั่วโลกกว่าสี่หมื่นล้านบาทในปี 2546 ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมาตรการดังกล่าว เพราะมาตรฐานด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกประเทศจะมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน

"ปัญหาคือ มีรายงานในยุโรปพบว่า สัตว์ที่ได้รับสารปฏิชีวนะในระดับต่ำ ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะนั้น เพราะฉะนั้นการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีการใช้สารเหล่านี้เข้าไปเป็นประจำ ก็อาจมีผลให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะในมนุษย์ได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้หลายประเทศในตะวันตกนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เป็นกลยุทธ์ป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับสารเหล่านี้ และหนึ่งในนั้นคือ มาตรการห้ามนำเข้าไก่ที่มีการเลี้ยงโดยเติมสารปฏิชีวนะ"

ในเรื่องดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมส่งออกไก่เนื้อของไทย ทั้งในรูปไข่ไก่แช่แข็งและแปรรูป ก็มิได้นิ่งนอนใจ หลายบริษัทเริ่มหันมาศึกษาหาแนวทางในการลดละเลิกการใช้สารปฏิชีวนะเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในคำตอบนี้คือ "สมุนไพร" รศ.ดร. จันทร์จรัส กล่าวว่า งานวิจัยภายใต้ชุดโครงการ "การใช้สมุนไพรในการผลิตสัตว์" โดยการสนับสนุนของ สกว. ที่ผ่านมา ได้พบสมุนไพรหลายตัว เช่น ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน พริก ใบหรือผลฝรั่งอ่อน มีคุณสมบัติช่วยให้ไก่ที่เลี้ยงไว้มีอัตราการรอด และการเจริญเติบโตไม่แพ้การเลี้ยงโดยเติมสารปฏิชีวนะ ซึ่งสิ่งที่ สกว. กำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือ การพยายามหาตัวเลข หรือค่าบางตัวที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า สมุนไพรมีผลดีต่อสัตว์จริง ในเชิงวิชาการนำปัญหาจากภาคอุตสาหกรรมมาแปลงเป็นโจทย์วิจัย เพื่อให้นักวิจัยสาขาต่าง ๆ ได้ช่วยกันศึกษาและสรุปผล ให้คำตอบที่ถูกต้องแก่ผู้เลี้ยงสัตว์

ศ.ดร. นันทวัน บุณยะประภัคร จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ประสานงานโครงการชุดนี้ กล่าวว่า จากผลการวิจัยที่ผ่านมา แม้จะพบว่า มีพืชหลายชนิดมีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นสารเติมในอาหารสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ หากยังอยู่ในระดับการศึกษาเพื่อดูผลจากการนำไปใช้ แต่สิ่งที่จะดำเนินการต่อในช่วง 2 ปี ข้างหน้านี้ คือการวิจัยเพื่อสร้างระบบในการนำสมุนไพรเหล่านี้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

"ขณะนี้ งานวิจัยถึงผลของการใช้พืชเหล่านี้กับกระบวนการออกฤทธิ์ในสัตว์ เช่น ลดความเครียด หรือช่วยในการย่อย ได้ผลในเบื้องต้นแล้วพบว่า การใช้ฟ้าทลายโจร และขมิ้นชัน มีผลในทางบวกต่อไก่อย่างเห็นได้ชัด ส่วนการวิจัยในพืชชนิดอื่น เช่น พริก ใบฝรั่ง กระเทียม ก็ยังพบว่ามีผลต่ออัตราการโตและอัตราการรอดของสัตว์เหล่านี้ และนอกจากงานวิจัยทั้งสองส่วนนี้แล้ว เรายังได้สนับสนุนให้นักเภสัชศาสตร์ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการนำสมุนไพรเหล่านี้ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ง่ายต่อการผสมในอาหาร ที่เก็บได้นาน ทนต่อความชื้น และคงตัวต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งงานนี้จะดำเนินไปพร้อมกับการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปทดสอบใช้กับการเลี้ยงไก่เนื้อและหมู เพื่อหาส่วนผสมที่เหมาะสมที่สุด คุ้มค่าที่สุด ซึ่งคาดว่าภายในปีหน้า จะมีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสำหรับการเลี้ยงไก่และสุกรออกมาทดลองตลาดอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุด มีภาคเอกชนแสดงความสนใจจะเข้าร่วมทุนวิจัยและพัฒนาแล้ว"

นอกเหนือจากการวิจัยถึงผลการใช้ต่อสัตว์ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ศ.ดร.นันทวัน กล่าวว่า งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งกำลังดำเนินการภายใต้ชุดโครงการวิจัยนี้คือ การวิจัยเพื่อหารูปแบบการปลูกพืชสมุนไพรที่เหมาะสมทั้งระดับเกษตรและระดับอุตสาหกรรมไทย เพราะหากขาดส่วนนี้ไป แม้สมุนไพรชนิดนั้นจะดีอย่างไร หากเราปลูกขึ้นมาไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งงานวิจัยส่วนนั้นนอกจากช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตสัตว์แล้ว ยังอาจเป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทยยุคหน้าได้อีกด้วย

ท่ามกลางปัญหาโรคระบาดไก่ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การป้องกันในระยะยาวด้วยการประยุกต์ภูมิปัญญาไทย และภูมิความรู้ด้านสมุนไพร มาใช้ทดแทนสารที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาจกลายเป็นทางเลือกหรือคำตอบใหม่ของการดูแลสุขภาพไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ายิ่งขึ้น

ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคที่เกี่ยวกับไก่รุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ เป็นอันมาก เกษตรกรบางรายสงสัยว่า ทำวัคซีนแล้วแต่ไก่ก็ยังตายหมดทั้งฟาร์ม ซึ่งกระแสข่าวที่ผ่านมาทำให้คนไทยกลัวที่จะรับประทานไก่ เพราะกลัวโรคระบาดนั้นจะติดต่อมาสู่คน

ส่วนใหญ่การรักษาโรคไก่มักจะใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะกลุ่มของไก่พื้นเมือง ซึ่งอาจมีผลให้เกิดสารตกค้างถึงมนุษย์ และการรักษาดังกล่าวก็อาจทำให้ไก่ที่เหลืออยู่เป็นพาหะของโรคต่อไปหรือส่งผลให้เชื้อโรคที่ยังอยู่มีพัฒนาการต่อก็ได้ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาหรือก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อไป

การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยพืชสมุนไพรเป็นอีกลู่ทางหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจและมีการสนับสนุน เช่น การใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata Wall. Ex Nees) เป็นพืชสมุนไพรทางการแพทย์ มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นสารพวก diterpene lactones ออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น Esherichia coli และ Salmonella typhi ยับยั้งเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ เช่น Staphylococcus aureus และมีสรรพคุณแก้ไข้ แก้หวัด แก้โรคบิด โรคท้องร่วง และแก้แผลบวมอักเสบ ซึ่งสรรพคุณที่ดีเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นในด้านการป้องกันรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับไก่ เช่น โรคอุจจาระขาว ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียพวก Salmonella pullorum และในปัจจุบัน (ปี 2547) ได้มีโรคระบาดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่าเป็นโรคนิวคาสเซิล สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครสวรรค์ระบุว่า เกิดจากโรค แซลโมเนลลา (Salmonellasis) หรือโรคขี้ขาว และโรคอหิวาห์เป็ดไก่ที่ชื่อ Fowl Cholera

ผู้รายงานได้มีโอกาสเข้าศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และทำการศึกษาหาระดับที่เหมาะสมและศึกษาผลของสมุนไพรฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata) ในสูตรอาหารไก่ ต่อประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาโรคอุจจาระขาวในไก่พื้นเมือง โดยใช้ไก่พื้นเมืองคละเพศ อายุแรกเกิด จำนวน 160 ตัว โดยมี ดร.โอภาส พิมพา และ รศ.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้ทุนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร

ในการทดลองเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 14 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงการทดลองนั้นไก่จะถูกสุ่มแบ่งออกเป็นกลุ่ม จำนวน 16 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว แต่ละกลุ่มจะถูกสุ่มแบบอิสระ ให้ได้รับอาหารทดลองที่มีสมุนไพรฟ้าทลายโจรในส่วนประกอบมากขึ้น 4 ระดับ คือ 0% 0.5% 1.0% และ 1.5% ในสูตรอาหารตามลำดับ

ไก่แต่ละกลุ่มที่ได้รับอาหารในแต่ละสูตรจะให้กินได้อย่างเต็มที่ เพื่อวัดปริมาณการกินได้ ในแต่ละคอกจะมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา

ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 ครึ่งหนึ่งของไก่ที่ได้รับอาหารทดลองแต่ละสูตร จะถูกสุ่มให้ได้รับเชื้อ Salmonella pullorum ซึ่งเชื้อจะถูกฉีดเข้าปากสู่ทางเดินอาหารโดยตรง

วัดอัตราการเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการใช้อาหาร ศึกษาอาการเครียดและเหงาซึม ตลอดทั้งวัดคุณภาพซากเมื่อเลี้ยงครบ 14 สัปดาห์ ซึ่งไก่จะมีอายุ 16 สัปดาห์ จากการศึกษาพบว่าระดับของฟ้าทลายโจรที่เหมาะสมในสูตรอาหารคือ 1.0% เพราะมีผลให้ไก่กินอาหารได้มากที่สุด และมีแนวโน้มให้ไก่มีน้ำหนักตัวสูงที่สุด ตลอดทั้งอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดด้วย

นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันผลเสียอันเกิดจากเชื้อ Salmonella pullorum ที่มีต่อไก่ เช่น อาการเครียด ส่งผลต่อการกินอาหารที่ลดลงและอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลง ซึ่งระดับฟ้าทลายโจร 1.0% ในสูตรอาหารยังสามารถทำให้อัตราการแลกเนื้อดีที่สุดในช่วงที่ไก่ได้รับเชื้อ Salmonella pullorum

สมุนไพรฟ้าทลายโจรในสูตรอาหารจะช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์ซากดีขึ้น และมีผลให้เปอร์เซ็นต์เนื้อหน้าอกมากด้วย ซึ่งในไก่พื้นเมืองสามารถย่อยสมุนไพรได้ดีกว่าไก่พันธุ์เนื้อในระบบฟาร์ม

หลังจากเสร็จสิ้นการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน 2546 จึงได้ใช้อาหารที่มีระดับฟ้าทลายโจรในสูตรอาหารระดับ 1% เรื่อยมา และหลังจากนั้นไก่ในฟาร์มที่เลี้ยงไม่มีอาการป่วยแสดงให้เห็น รวมทั้งในช่วงที่มีการระบาดที่รุนแรงและเฉียบพลันยังได้นำฟ้าทลายโจรน้ำหนักแห้งจำนวน 10 กรัม ผสมน้ำ 2.5 ลิตร ให้ไก่กินทุกวันอย่างสม่ำเสมอ พบว่าสามารถลดอัตราการตายของไก่พื้นเมืองลูกผสม 5 สายพันธุ์ ลงได้ (มีอัตราการตายประมาณ 7%)

ทั้งนี้ไก่ทุกตัวต้องได้รับการทำวัคซีนตรงตามโปรแกรมที่กรมปศุสัตว์กำหนด จึงได้ทดสอบง่ายๆ ในช่วงที่ 2 โดยเริ่มจากแบ่งไก่ออกเป็น 16 คอก คอกละ 6 ตัว ซึ่งไก่ทุกตัวมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง หลังจากนั้น ได้นำไก่ชาวบ้านที่ป่วยเป็นโรคระบาดดังกล่าว มาใส่รวมไว้ในคอกที่ 2 ให้น้ำเปล่าตามปกติ

หลังจากนั้นสังเกตอาการป่วย ปรากฏว่าไก่คอกที่ 2 มีอาการป่วยอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงเริ่มให้ฟ้าทลายโจรน้ำหนักแห้ง 10 กรัม ผสมน้ำ 2.5 ลิตร ให้ไก่กินตั้งแต่คอกที่ 5-16 ปรากฏว่า ไก่คอกที่ 1-4 ตายหมด คอกที่ 5-16 ไม่ตายและยังมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง

หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ หยุดให้ฟ้าทลายโจร และนำน้ำฉีดลงที่พื้นคอกให้เปียกแฉะ (พื้นคอกปูด้วยแกลบ) สังเกตอาการของไก่ที่เหลือพบว่ามีไก่ป่วยแต่อาการไม่รุนแรง จึงให้ฟ้าทลายโจรอีกครั้งหนึ่งผสมลงในน้ำอัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 2.5 ลิตร พบว่าสามารถลดอัตราการตายของไก่พื้นเมืองลูกผสม 5 สายพันธุ์ ลงได้ ซึ่งถ้าหากได้มีการทดลอง วิจัยในระดับที่ละเอียดและชัดเจน อาจจะมีประโยชน์ต่อวงการปศุสัตว์ได้มากขึ้น ดังนั้น การให้อาหารที่มีพืชสมุนไพรฟ้าทลายโจร 1.0% ในสูตรอาหารจึงยังคงสร้างกำไรและลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคในฟาร์มได้ และหากเกษตรกรมีการปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทลายโจรใช้เองจะทำให้การเลี้ยงไก่ได้กำไรมากยิ่งขึ้น เพราะสมุนไพรฟ้าทลายโจรมีราคาแพง หากจะจัดซื้อมาผสมอาหารไก่เอง ซึ่งมีราคาประมาณ 200 บาท ต่อกิโลกรัม